top of page

ผู้ช่วยชอบออกกระทันหัน เก็บ"เงินประกัน"เลยดีไหม

Writer: Dr. PomDr. Pom

Updated: Oct 23, 2019




เรื่องมีอยู่ว่า

หมอโอ๋ : ทำไงดีอะปุ๊ก ผู้ช่วยที่คลินิกออกกระทันหันบ่อยๆ ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา หายไป สองเลย ไม่บอกล่วงหน้าเลย ติดต่อไม่ได้อีก.....เซ็ง

หมอปุ๊ก : เฮ้ย เราก็เคยเจอ ตอนหลังใครมาสมัครเราเลยเก็บเงินประกันห้าพันบาททุกคนเลย

หมอโอ๋ : อ้าวทำได้ด้วยหรือ ???



เรื่องจริงมีอยู่ว่า

- ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน มีถ้อยคำที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้คือ

ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่นหรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด “


- ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 มีถ้อยคำที่เกี่ยวข้องดังนี้

ข้อ 4 ลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างจะเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ ได้แก่

(1) งานสมุห์บัญชี

(2) งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน

(3) งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่าคือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาวและไข่มุก

(4) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง

(5) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน

(6) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ

(7) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

ข้อ 5 หลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานมีสามประเภท ได้แก่

(1) เงินสด

(2) ทรัพย์สิน

(3) การค้ำประกันด้วยบุคคล

ข้อ 6 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเป็นเงินสด จำนวนเงินที่เรียกหรือรับต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ

ข้อ 8 ให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน

ค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้นายจ้างเป็นผู้ออก

ข้อ 9 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเป็นทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่เรียกหรือรับเป็นหลักประกันได้ ได้แก่ทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(1) สมุดเงินฝากประจำธนาคาร

(2) หนังสือค้ำประกันของธนาคาร

ทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นต้องมีมูลค่าไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ โดยให้นายจ้างเป็นผู้เก็บรักษาหลักประกันไว้

ห้ามมิให้นายจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ลูกจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตาม (1) เป็นของนายจ้าง หรือของบุคคลอื่น

ข้อ 10 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน โดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ

ให้นายจ้างจัดทำหนังสือสัญญาค้ำประกันสามฉบับ โดยให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ค้ำประกันเก็บไว้ฝ่ายละฉบับ

ข้อ 11 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันตามข้อ 4 หลายประเภทรวมกันเมื่อคำนวณจำนวนมูลค่าของหลักประกันทุกประเภทรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ



tDE ช่วยคิด

1. หมอโอ๋ อาจต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งเรื่องการเก็บเงินประกันกับน้องๆ ก็เพื่อหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานอันด้วยลักษณะหรือสภาพของงานที่น้องๆทำนั้นต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของหมอโอ๋ เช่นถ้าเป็นงานของน้องเมย์ที่ทำงานแคชเชียร์เก็บเงินหรือจ่ายเงินทอนให้แก่คนไข้ แต่ถ้าเป็นน้องจ๋อมซึ่งเป็นผู้ช่วย อาจจะไม่เกี่ยวกับลักษณะหรือสภาพของงานที่เก็บได้

2. หากหมอโอ๋เก็บหลักประกันจากน้องเมย์ดังกล่าวเป็นเงินสด จำนวนเงินที่เรียกหรือรับต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ เช่น ถ้าเงินเดือน น้องเมย์ 15,000 บาท เงินประกันต้องไม่เกิน 30,000 บาท ( 15,000/30 = 500 บาท และ 60*500 =30,000 บาท )

3. หลังจากนั้นหมอโอ๋ต้องนำเงินประกันดังกล่าวฝากไว้กับธนาคารในชื่อของน้องเมย์ และสำเนาหน้าสมุดบัญชีให้กับน้องเมย์ภายใน 7 วันที่เอาเงินประกันน้องเมย์มา


เราคงทบทวนกันใหม่นิดนึง ว่า “ อย่าใช้หลักประกันผิดวัตถุประสงค์ไปเพื่อป้องกันไม่ให้น้องๆที่ทำงานออกกระทันหันนะครับ” เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเช่นนั้น เพราะถ้าน้องๆจะออกจากงานทันที เงินประกันก็รั้งไม่อยู่นะครับ และที่สำคัญถ้าเราเก็บบางคนได้และบางคนไม่ได้ เราอาจต้องเจอสถานการณ์ที่เราต้องทำความเข้าใจกับน้องๆทุกคนด้วยครับ

ดังนั้นจะเก็บหรือไม่เก็บ"เงินประกัน"ต้องชั่งใจให้ดีนะครับ


 

สำหรับคุณหมอที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม

ทาง tDE ขอแนะนำ งานสัมมนาเล่าสู่กันฟัง ตอน 2 "เปิด(คลินิก)ให้รอด ต่อให้ปัง หยุดให้สวย" [ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 นี้ ]  เหมาะสำหรับคุณหมอที่กำลังเปิดคลินิกหรือเปิดมาสักระยะแต่ไม่รู้จะไปต่อยังไง หรือคนที่อยากหยุด จะหยุดแบบสวยๆ ยังไงดี มาพบคำตอบได้ในงานสัมมนานี้กับวิทยากร

ที่คุ้นเคย ทพ.พรชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์

(คุณหมอ Pom)



และขอแนะนำงานสัมมนา Design your HR สำหรับคลินิกทันตกรรม

[ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ]  เป็นงานสัมมนาที่ช่วยสร้างความเข้าใจในกฎหมายแรงงานเบื้องต้นที่คัดสรรมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับคลินิกโดยตรง พร้อมทางลัดในการร่างสัญญาจ้างและข้อบังคับในการทำงานที่เหมาะสมและปรับใช้ได้จริงในคลินิก โดยผศ.ดร.ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์ รองคณบดี(ด้านวิชาการ) คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Add Line เพื่อสอบถามข้อมูลหรือสมัครได้แล้ววันนี้

Comments


bottom of page