top of page

ขายแปรงสีฟันในคลินิกเสีย VAT ไหม

Updated: Sep 17, 2019



เรื่องมีอยู่ว่า

หมอโอ๋ : ปุ๊ก เราได้ยินมาว่า เธอโดนตรวจเรื่องรายได้จากการขายแปรงสีฟันต้องเสีย VAT ใช่ไหม

หมอปุ๊ก : เออ มึนๆนะ แต่เราว่าคลินิกฟันได้รับการยกเว้นไม่ใช่หรือ

หมอโอ๋ : อ้าว แล้วตกลงยังไงเนี่ย ???



เรื่องจริงมีอยู่ว่า

- ตามประมวลรัษฏากร มีถ้อยคำที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้คือ

มาตรา 81 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) การขายสินค้าที่มิใช่การส่งออก หรือการให้บริการดังต่อไปนี้

..........................

(ฌ) การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพอิสระนั้น

(ญ) การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

..........................



tDE ช่วยคิด


1. ลองพิจารณาว่าการขายแปรงสีฟันในคลินิกให้กับคนไข้ เป็น”การขายสินค้า” หรือ “การให้บริการ” เพราะการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสถานพยาบาล(ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลด้วยนะครับ) ต้องเป็นกรณี “การให้บริการรักษาพยาบาล” เท่านั้น ดังนั้นการขายแปรงสีฟัน หากพิจารณาแล้วหากมิใช่การประกอบกิจการในลักษณะ “การให้บริการรักษาพยาบาล” ย่อมไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. ถ้าพิจารณาแล้วว่า การขายแปรงสีฟันในคลินิก ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แต่ถ้ามีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ดีนะครับ


3. ประเด็นต่อไปที่มักจะมีปัญหาคือ เราพิสูจน์ได้อย่างไร ว่ารายรับจากการขายแปรงสีฟันและอื่นๆที่ไม่ได้รับการยกเว้นด้วยนั้น มียอดไม่เกิน 1.8 ล้านต่อปี ในเมื่อเราไม่ได้ทำบัญชี ดังนั้นหากเป็นไปได้เจ้าของคลินิกควรทำบัญชีอย่างน้อยก็ส่วนของการขายสินค้าเหล่านี้

แต่เชื่อว่าคลินิกส่วนใหญ่ไม่น่าจะมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทเพราะนั่นหมายความว่า ต้องมีรายรับประเภทนี้ถึงวันละประมาณ 5,000 บาทเลย ( (5,000 * 30) *12) แต่ต้องระวังในกรณีที่มีหลายสาขาและจดทะเบียนนิติบุคคลเดียวกัน ต้องคอยดูรายการประเภทนี้ไว้ก่อนนะครับ


จากที่กล่าวมาทั้งหมดตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้

- คลินิกส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำบัญชีเกี่ยวกับการขายแปรงสีฟันและสินค้าในคลินิก ซึ่งอาจจะมีปัญหาในการพิสูจน์ยอดรายรับ จะอ้างเฉยๆว่า ไม่ถึงแน่นอนนั้น อีกฝ่ายอาจจะรับฟังยาก แนะนำว่าอย่างน้อยเราควรเก็บใบสั่งซื้อไว้นะครับ เพราะถ้าตามเอกสารเราซื้อสินค้ามาทั้งปี 200,000 บาท จะตั้งราคาขายยังไงก็ไม่น่าจะเกิน 1,800,000 บาทแน่นอน

- กรณีที่มีการใช้น้ำยาบ้วนปากบางประเภทที่เกี่ยวกับงานปริทันต์ เช่น C-20 หากเป็นส่วนหนึ่งของการบริการงานรักษาปริทันต์ มีการเปิดใช้งานในการรักษา และมีการคิดต้นทุนรวมในการบริการงานรักษา ทั้งหมดหากคิดรวมเป็น”รายรับจากการให้บริการรักษาพยาบาลสำหรับโรคปริทันต์” กรณีนี้ย่อมไม่ถือเป็นรายการขายสินค้าแยกออกมาโดยตรง หากเป็นต้นทุนในการให้บริการ


อาจมีหลายกรณีที่ยังไม่ได้หยิบยกมา แต่เบื้องต้นอยากให้เข้าใจพื้นฐานก่อนว่ารายการไหนเป็นรายการที่ได้รับการยกเว้นบ้าง และหากรายการไหนไม่ได้รับการยกเว้นก็ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่ารายรับจากรายการเหล่านั้นต้องไม่เกิน 1.8 ล้านบาท จึงไม่ต้องเสีย VAT ต่อไป


หากสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องบัญชีและภาษีสำหรับคลินิกทันตกรรม ทาง tDE ขอแนะนำคอร์ส "ACCOUNTING AND TAX" เพิ่มพูนความรู้ Soft Skills ในเรื่องบัญชีและภาษี โดยวิทยากรชื่อดัง คุณถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TaxBugnoms ที่มีผู้ติดตามเกือบ 4 แสนคน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน LINE ได้เลย


 


239 views0 comments
bottom of page